บอน พ้นความคัน เป็นอันว่าอร่อย

บอน  Bon

     “น้ำกลิ้งบนใบบอนหรือ ปากบอนอ่านแล้วบอกถึงลักษณะของบอนได้ ใบบอนมีลักษณะพิเศษ ไม่เปียกน้ำ เพราะมีไขผึ้งเคลือบอยู่ น้ำที่อยู่บนใบบอนมักจะรวมกันเป็นหยดน้ำ และเมื่อก้านบอนยาว ๆ ถูกลมพัดน้ำในใบบอนก็จะกลิ้งไปมาอยู่ตลอดเวลา
     ใบบอนที่ขึ้นอยู่ยังไม่ตัดมาลอกเปลือกเตรียมแกงโดนแล้วคัน จึงเปรียบกันว่าคนชอบจ้อ ชอบเล่าเรื่องขยายความใส่ไข่ ใส่สี เป็นคนปากบอน คือปากคันยิบ ๆ คอยจะขยับปากเล่าเรื่องต่าง ๆ
     บอนเป็นพืชที่ชอบขึ้นอยู่ริมน้ำที่แฉะ ๆ ขึ้นเป็นกอ ๆ กอละ 7-8 ใบ ใบสีเขียวหลังใบจะมีสีขาวนวล ใบคล้ายรูปหัวใจ บอนที่มีอยู่ในบ้านเรานอกจากจะมีบอนคันแล้วยังมีบอนที่คันน้อยกว่า สังเกตความแตกต่างจากใบ และต้นของบอนหวานจะมีสีเขียวสด หรือเขียวคล้ำ ไม่มีนวลเคลือบที่ก้านใบ แต่ถ้าบอนคันใบจะมีสีเขียวนวลและมีนวลเคลือบที่ก้านใบ หรืออาจลองใช้มีดตัดก้านบอนทิ้งไว้สัก 5 นาที ถ้าบอนคันเป็นสีเขียวน้ำเงิน แต่ถ้าเป็นบอนหวานจะไม่มีสี หรืออาจเอาก้านใบทาหลังมือไว้ 2-3 นาที ถ้ามีอาการคันแสดงว่าเป็นบอนคัน
     การน้ำบอนมารับประทานควรทดสอบให้แน่ใจว่าเป็นบอนคันหรือบอนหวาน เพราะว่าจะช่วยการกินบอนอร่อยอย่างปลอดภัย สิ่งที่ทำให้บอนคันเนื่องจากมีผลึกของแคลเซียมออกซาเลต (calcium oxalate) ซึ่งจะทำให้ลิ้น ทางเดินอาหาร และผิวหนังเกิดการระคายเคืองได้ ดังนั้นการปรุงอาหารจึงต้องมีเทคนิคพิเศษ บอนก็เหมือนความรัก รักแท้ย่อมมีความลำบากเป็นสิ่งพิสูจน์กินบอนลำบากเพียงนิด แต่มีอาหารผักดี ๆ เป็นผลตอบแทน
     การนำบอนมาปรุงอาหารจะใช้ก้านใบ และใบอ่อนซึ่งจะต้องลอกผิวชองก้านใบก่อน ซึ่งอาจสวมถุงมือ หรือถุงพลาสติกที่มือก่อน เพราะจะช่วยไม่ให้คันแล้ว ยังช่วยไม่ให้มือดำจากยางของบอนอีกด้วย ตอนเด็กคุณแม่เคยให้ปอกบอนแกง โชคดีที่บอนที่บ้านเป็นบอนหวาน เลยไม่คัน แต่มือดำน่าเกลียดไปหลายวันทีเดียว
     บอนเป็นผักที่ไม่นิยมกินดิบ ซึ่งเป็นเพราะว่า บอนกินดิบแล้วคัน แต่ถ้าทำให้สุกแล้วจะไม่คัน ในการปรุงแกงบอนจึงต้องต้มหรือเคี่ยวให้นาน ๆ หรืออาจจะใส่มะขามเปียกหรือสิ่งที่มีรสเปรี้ยวลงไป เพื่อให้ผลึกของแคลเซียมออกซาเลตแตกออก แต่ถ้าสมัยใหม่อาจใช้เบคกิ้งโซดาซึ่งจะช่วยลดความคันลงได้ แม่ครัวสมัยก่อนมักจะบอกว่าเวลาแกงบอนห้ามพูดถึงสิ่งที่คันเด็ดขาดเพราะจะทำให้แกงบอนคัน แต่ถ้าโชคดีถ้าเจอบอนหวานก็ไม่ต้องยุ่งยากในการแกงมากนัก และไม่เจอกับความคันจากการเตรียมบอน
     สำหรับการแกงบอนนั้น ถ้าเคี่ยวไม่นานจนบอนเละก็จะรู้สึกว่าไม่อร่อย น้ำแกงไม่ซึมเข้าไปในเนื้อบอนมีหลายคนที่ไม่กล้ากินแกงบอนเพราะกลัวคัน เลยพลาดความเนียนอร่อยของบอน
     แกงบอนส่วนมากจะเป็นแกงส้มบอน ปรุงให้รสชาติออกหวานนำ แกงกับปลาสดหรือปลาแห้ง ใส่กระชายในพริกแกงด้วยสักหน่อย เคี่ยวจนบอนเละ ใส่ใบมะกรูด หรืออาจใช้น้ำมะกรูดแทนน้ำมะขามเปียก กลิ่นใบมะกรูดอ่อน หวานนิด ๆ เนื้อบอนนุ่ม ๆ ถ้าใครลองได้กินแล้วจะติดใจ หรืออาจจะเป็นแกงกะทิก็อร่อยไม่แพ้กันถ้าเป็นตามต่างจังหวัดในแถบภาคกลางเมื่อมีงานบุญ เช่น งานบวช ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า แกงอย่าง หนึ่งที่แม่ครัวจะเลือกก็คือแกงบอน และคนที่ไปช่วยงานส่วนใหญ่ก็จะต้องรอชิมแกงบอน เพราะถ้าแกงบอนอร่อย ไม่คัน กับข้าวชนิดอื่น ๆ ที่ตามมารับรองอร่อย
     แกงบอนก็จัดเป็นแกงพิสูจน์ฝีมือแม่ครัวอีกอย่างหนึ่งนอกจากหมี่กรอบ บอนนอกจากนำมาแกงแล้วบางที่ยังเอามาดองด้วย โดยเอาบอนมาขยำกับเกลือให้ยางออกก่อน แล้วจึงดองเอาไว้จิ้มน้ำพริกกิน บอนเป็นอาหารต้องห้ามของคนท้อง ตามความเชื่อของคนสมัยก่อนที่เชื่อว่าบอนจะทำให้สายรกเปื่อย
     นอกจากบอนแล้วยังมีผักอีกชนิดหนึ่งที่ลักษณะคล้าย ๆ บอน และอยู่ในวงศ์ Araceae เหมือนกันนั่น คือ คูน หรือทูน ขึ้นในดินทั่วไปไม่ขึ้นริมน้ำเหมือนบอนมีหัวอยู่ใต้ดินเหมือนเผือก ก้านใบยาวผิวของก้านใบจะมีนวลเคลือบอยู่ มองดูแล้วเป็นสีขาวนวล ใบเป็นรูปไข่ปลายใบมน สีเขียวอ่อน ซึ่งสังเกตว่าใบคูณจะมีสีโปร่งและใบมันกว่าใบบอน ถ้าสังเกตดูลักษณะของก้านใบแล้วคูนจะมีช่องอากาศภายในใหญ่กว่าบอน แล้วเนื้อจะแข็งกว่า คูนจะมี 2 ชนิดคือคูนขาว และคูนดำ ซึ่งมีสีเขียวเข้มกว่า และก้านใบจะมีสีม่วงเข้ม ทางใต้จะเรียกคูนว่า ออดิบ
     มีพืชอีกชนิดหนึ่งชื่อโทราบอน ที่มีลักษณะคล้ายคูน แต่ต่างกันที่ยางของโทราจะมีสีส้มอ่อน ยางของคูนจะใส ถ้ากินโทราเข้าไปจะทำให้คันลิ้น
     ชาวบ้านมักปลูกคูนในบ้าน เคยไปเห็นบ้านหนึ่งที่เชิงภูหลวง จังหวัดเลย เขาปลูกคูนไว้หน้าบ้านเป็นแถวเหมือนปลูกว่าน พอเห็นแล้วก็รู้สึกสนใจ แปลกดี เลยเข้าไปถามว่าต้นอะไร สวยดี ลุงแกก็บอกว่า ทูน และยังแถมสรรพคุณอีกมากมาย ทูนเอามาจิ้มน้ำพริกปลาร้าอร่อยดี กรอบ ๆ ไม่คันเหมือนบอน ก่อนกินก็ลอกเปลือกออกก่อน หรือจะเอาไปแกงส้ม แกงแค กินกันลาบ ส้มตำก็ได้ ในตลาดหากินยาก ถ้าต้นมันเหี่ยว ตายไปก็ไม่เป็นไร พอหน้าฝนหรือรดน้ำให้มันสักหน่อยก็งอกขึ้นมาใหม่ ถ้ามันแตกกอเยอะเกินก็ถอนทิ้ง หรือแยกไปปลูกก็ได้ เพราะถ้าปล่อยให้แน่นเกินต้นจะเล็ก หัวทูนเขาจะไม่เอามากินกันแต่จะใช้เป็นยารักษาแผล รักษาฝ้า ถ้าเอามาฝนกับน้ำผึ้งกินเข้าไป ก็ช่วยขับเสมหะได้ดีทีเดียว
     ทั้งบอน คูน และเผือก ก็เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกันแต่การจะนำมากินก็ต้องสังเกตให้ดี หรือถามจากแม่ค้าไท้แน่ใจเสียก่อน เพื่อความอร่อยอย่างปลอดภัย แต่ถ้าจะหากินในกรุงเทพฯ ก็อาจจะหากินยากสักหน่อย ถ้ามีโอกาสไปต่างจังหวัดหรือได้พบเห็นแกงบอน แกงคูนเมื่อไหร่ก็อย่ารอช้าลองสัมผัสความอร่อย และความแปลกใหม่ดูบ้าง เพื่อครั้งหนึ่งในชีวิต

ชื่อผัก : บอน บอนน้ำ บอนเขียว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Colocasia esculenta Schott.
ชื่อผัก : คูน,ทูน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Colocasia gigantea Hook.f.
วงศ์ : Araceae 

ตารางแสดงคุณค่าอาหารส่วนที่กินได้  100  กรัม

พลังงาน
โปรตีน
ไขมัน
คาร์โบไฮเดรต
กิโลแคลอรี
กรัม
บอน
15
0.6
0
3.2
คูน
9
0.5
0.1
1.5

ตารางแสดงคุณค่าอาหารส่วนที่กินได้  100  กรัม
แคลเซียม
ฟอสฟอรัส
เหล็ก
วิตามินบี1
วิตามินบี2
ไนอาซิน
วิตามินซี
มิลลิกรัม
36.00
16
0.7
0.01
0.02
0
10
115
30
1.3
0.03
0.01
0.4
6

ตารางแสดงคุณค่าอาหารส่วนที่กินได้  100  กรัม
เบต้า-แคโรทีน
ใยอาหาร
RE
กรัม
0.75*
-
6.14*
-

กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย. 2535.
* วิเคราะห์โดยสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
RE ไมโครกรัมเทียบหน่วยเรตินัล

-ไม่มีการวิเคราะห์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น