ชะมวง ซ่อนเสน่ห์ในความเปรี้ยว


ชะมวง Cha-muang

             หนังตะลุงเป็นแหล่งรวมภูมิปัญญาคนปักษ์ใต้ เอาไว้หลายแขนง นับแต่ขั้นตอนการฟอกหนัง การฉลุลายวาดลาย กระทั่งการร้องและร่ายรำใส่วิญญาณให้ตัวหนังโลดแล่นบนจอผ้า ตรึงตาผู้รอชม
            ในขั้นปฐม  ได้แก่การฟอกหนัง   กระบวนการนี้กว่าจะลุล่วง ต้องอาศัย “ส้มมวง” เคียงข้าง  
         ช่างหนังจะนำผลและใบแก่ของพืชชนิดนี้มาหมัก เพื่อให้ได้น้ำกรดสำหรับฟอกหนังวัว และควาย เพื่อเตรียมแกะฉลุเป็นรูปตัวหนังในลำดับถัดไป นอกจากนี้เปลือกต้นและยางส้มมวงยังให้สีเหลืองสำหรับย้อม ผ้าเป็นของแถมมาด้วยและที่มีประโยชน์แน่ ๆ อีกอย่างจากต้นเดียวกันก็คือ ใบส้มมวง หรือชะมวงที่กินอร่อยนัก ชื่อของ “ต้มหมูใบชะมวง” อันลือลั่น การรันตีคุณภาพได้
              ลูกชะมวงรูปร่างคล้ายมังคุด ชาวบ้านมักเก็บมากินเล่นเป็นผลไม้ชะมวงเป็นไม้ยืนต้น สูง 10-20 เมตรไม่เลือกถิ่นที่อยู่จึงพบได้ทุกภาคทั่วเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามบริเวณชายป่า     ชื่อที่คนใต้เรียกกันว่า “ส้มมวง” ชี้บ่งชัดเจนว่า พืชชนิดนี้ต้องมาพร้อมความเปรี้ยวที่กลมกล่อม
               ชาวปักษ์ใต้และคนภาคตะวันออก   ชอบรสเปรี้ยวของชะมวง   ที่แผ่ซ่านทั่วถึงทั้งส่วนยอด ใบ และผล ใบชะมวงมักถูกเด็ดมาทำอาหารที่อาศัยการปรุงให้สุก  เช่นต้มส้ม แกงส้ม ต้มเครื่องใน และที่ขึ้นชื่อลือชาในฐานะอาหารขึ้นหน้าขึ้นตาของชาวเมืองจันทน์ ก็คือ แกงหมูชะมวง เผลอ ๆอาจได้เจอแกงเนื้อชะมวงเข้าด้วยอีกรายการหนึ่ง
           ใบชะมวงมีสีเขียว ยาวราวครึ่งฟุตเศษ ๆ เนื้อใบหนา มีกลิ่นนิดหน่อย เอิบอาบไปด้วยของดีมีประโยชน์ควบคู่ไปกับรสเปรี้ยว ๆ สารอาหารที่เด่น ๆ คือ มีสารเบต้าแคโรทีน และวิตามินบี 1 นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุอีกมากรวมทั้งแคลเซียม เหล็ก และฟอสฟอรัส เมื่อกินพร้อมเนื้อสัตว์ที่ปรุงรวมมาด้วยกันในแกงใส่ใบชะมวง ร่างกายก็ยิ่งนำสารอาหารเหล่านี้ไปใช้ได้เต็มที่
               ช่วงหน้าฝน   ยอดชะมวงสีเขียวอ่อนจะดกสะพรั่ง  เชิญชวนให้เด็ดไปกินสด ๆ กับน้ำพริกทุกชนิด ช่วยเพิ่มวิตามินซี ทำให้ดูดซึมเหล็กที่มีอยู่ได้ดีขึ้น ส่งผลให้ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงมากพอในการลำเลียงออกซิเจนไปให้เซลล์เล็ก ๆ ในร่างกาย แล้วรู้ไหมว่าวิตามินซียังช่วยให้เส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ แข็งแรงไม่แตกง่าย ทำให้เหงือกแข็งแรง ไม่เป็นโรคเลือดออกตามไรฟัน เพิ่มเสน่ห์ยามยิ้มหวาน
             หลายบ้านปลูกชะมวงเอาไว้  เพราะเล็งเห็นประโยชน์หลายสถาน  ในการเก็บยอด ใบ และผลไว้กินอีกทั้ง ยังเป็นยาโบราณ เพราะใบและผลช่วยระบายท้องแก้ไข้ ฟอกเสมหะ ไอ กระหายน้ำ แก้ธาตุพิการ และใช้ผสมยาอื่น ๆ ออกฤทธิ์ขับเลือดออกจากภายใน และที่แน่ ๆ คือ ได้ร่มเงาจากใบดกหนา
            วิธีการปลูกชะมวงใช้ได้ทั้งเพาะเมล็ด    และตอนกิ่งเมื่อเติบโตจะออกดอก  ที่ดูเผิน ๆ คล้ายดอกมะดัน เพราะมีขนาดเล็กสีเหลือง กลีบแข็ง ดอกชะมวงมีกลิ่นหอม และออกตามกิ่งพราวไปทั้งต้น ราวจะแข่งกับใบ ที่แม้เด็ดกินบ่อย ๆ ก็ไม่รู้จักเบาบาง ยังมีเหลือพอแจก หรือให้เก็บขายกำละ 3 บาท 5 บาทได้สบายๆ
                ปลูกชะมวงดีเพราะเปรี้ยวอย่างมีเสน่ห์ หยิบจับใส่แกงอะไรใครก็อยากชิม ลิ้มลอง ถึงมีต้นเดียวก็ทำหน้าที่ได้ไม่ขาดตกบกพร่อง เพราะออกผล ใบ ยอดใหม่ให้ได้ทันใช้ ไม่อ้อยอิ่งรีรอ
                หากไม่มีที่พอ   ขอแค่เป็น “คอชะมวง” ก็ใช้การได้  เพราะคงมีคนสมัครใจช่วยปลูกแทนเพื่อใบมาขายแล้วเปรี้ยวแบบมีเสน่ห์ของชะมวงก็จะไม่สูญหาย จนกลายเป็นไม้สูญพันธุ์

ชื่อผัก:              ชะมวง, ส้มมวง, ส้มป้อง
ชื่อวิทยาศาสตร์Garcinia cowa Roxb.
วงศ์:                Clusiaceae

ตารางแสดงคุณค่าอาหารส่วนที่กินได้ 100 กรัม
พลังงาน
โปรตีน
ไขมัน
คาร์โบไฮเดรต
กิโลแคลอรี่
กรัม
51
1.9
0.6
9.6

ตารางแสดงคุณค่าอาหารส่วนที่กินได้ 100 กรัม
แคลเซี่ยม
ฟอสฟอรัส
เหล็ก
วิตามินบี1
วิตามินบี2
ไนอาซีน
วิตามินซี
มิลลิกรัม
27
13
1.1
0.7
0.04
0.2
29

ตารางแสดงคุณค่าอาหารส่วนที่กินได้ 100 กรัม
เบต้า-แคโรทีน
ใยอาหาร
RE
กรัม
-
-

กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย. 2535.
RE   ไมโครกรัมเทียบหน่วยเรตินัล
-ไม่มีการวิเคราะห์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น