ผักหวานป่า ผักหน้าร้อน

ผักหวานป่า Pagwan pa

             หน้าร้อนเป็นเวลาที่นักกินบางคนรอคอยใครที่ชอบกินผักหวานป่าพอถึงหน้านี้ของปีเป็นได้ไปเดินมองหาผักเขียวที่ชาวบ้านมักมัดเป็นกำ ลำเลียงลงตะกร้ายกมาขาย ยอดผักหวานเขียวสวยกับตะกร้าไม้ไผ่ดูเข้ากันเป็นกิ่งทองใบหยก
            อาหารการกินเป็นศาสตร์และศิลป์  ที่แสดงออกถึงภูมิปัญญาของคนไทย   อาหารบางอย่าง มีสรรพคุณเป็นยา อาหารบางอย่างจะแนะนำให้กินในช่วงฤดู อย่างเช่น แกงส้มดอกแค จะแนะนำให้กินในช่วงอากาศเปลี่ยนฤดู เพราะจะช่วยรักษาอาการหวัดได้ นอกจากนั้นผักที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ที่เราเรียกว่าผักพื้นบ้าน นอกจากนั้นจะมีมากในบางฤดู กินอร่อยในบางฤดูเช่นกัน บางครั้งนึกอยากกินขึ้นมาผิดจังหวะ ก็คงต้องผิดหวังกันบ้างแหละ ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นเดือนที่เกือบจะย่างกรายเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างนี้ จะแนะนำผักพื้นบ้านที่มีในหน้าร้อน เราเรียกกันว่าผักหวาน ถ้าจะให้ไม่ผิดเพี้ยนก็ควรจะเรียกว่า ผักหวานป่า ผักที่แตกยอดเขียวสดใส ที่ต้องเรียกผักหวานป่า ก็เพราะยังมีผักหวานบ้านอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน
                ชื่อของผักหวานป่านี้มีที่มาเพราะ   เป็นไม้ยืนต้นที่อยู่ในป่า   ประเภทป่าผลัดใบอย่างเช่น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณที่มีร่มเงาพอสมควรไม่ร่มจนเกินไป และไม่ร้อนจนเกินไปเป็นผักที่มีนิยามเฉพาะตัวว่าไม่ชอบแดดจัด ไม่ชอบน้ำมาก ขึ้นได้ในที่ดอน ในดินดาน หรือ ดินปนทราย ทนแล้ง จึงทำให้เราพบผักหวานได้ในป่าเสื่อมโทรมด้วย ผักหวานเป็นผักที่หากินได้ง่ายในพื้นที่รอบๆ บริเวณป่า แต่ราคาของผักหวานช่วงที่ออกใหม่ๆประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ราคาแพงถึง 250 บาทต่อกิโลกรัม แต่ช่วงที่มีมากก็เหลือ 50-60 บาท ผักหวานเป็นผักพื้นบ้านที่มีราคาแพงกว่าผักเมืองจีนเสียอีก
                ปัจจุบันชาวบ้านปลูกผักหวานป่าไว้เ   พื่อเก็บยอดขายกันมากขึ้น    หน่วยงานรัฐบาล      เช่นสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้มีการส่งเสริมและอนุรักษ์ผักพื้นบ้านขึ้น ซึ่งผักหวานป่า ก็เป็นชนิดหนึ่งที่ได้รับการส่งเสริม และให้สมยานามว่า ผักหวานป่า ผักเพื่ออนาคต ซึ่งมีการแนะนำให้ปลูกแซมในสวนสัก สวนทุเรียน สวนมะพร้าว เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ชาวสวนมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงมักพบผักหวานป่าตามตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดตามต่างจังหวัดในตอนเช้าๆ ชาวเมืองทั้งหลายก็จะได้รู้จัก และได้ลิ้มรสผักพื้นบ้านชนิดนี้กันอย่างแพร่หลาย
           สำหรับชาวกรุงเทพฯ  ลองเดินหาตามตลาดเทเวศร์ ตลาดนัดสวนจตุจักร  หรือตลาดท่าน้ำนนท์ ก็อาจจะได้ผักหวานป่ามาลองชิมกัน การปลูกผักหวานก็จะมีทั้งการใช้เมล็ด ซึ่งผักหวานจะออกลูกเป็นพวง เมื่อสุกจะมีสีเหลืองมองดูแล้วคล้ายพวงมะไฟนอกจากการเพาะเมล็ดแล้วก็อาจจะใช้การตอนกิ่ง  การเพาะชำราก แต่ 2 วิธีหลังนี้จะใช้เวลานานประมาณ 4 เดือนและเปอร์เซ็นต์การออกรากต่ำมาก
               ในการเก็บผักหวานของชาวบ้านต้องมีการตัดกิ่งแขนงทิ้ง และรูดใบแก่ๆ ออก แล้วให้น้ำพอให้ดินชื้น ผักหวานจะแตกยอดใหม่ หรือถ้าในธรรมชาติยอดผักหวานก็จะแตกยอดหลังมีการเผาป่ากัน
              ส่วนของผักหวานที่นำมากินได้แก่ ยอดอ่อน  ใบอ่อน  ดอกอ่อน แต่ที่ขายในตลาดจะเห็นเป็นยอดอ่อนและใบอ่อนใบเป็นรูปไข่ ผิวใบสีเขียวสดมัน ใบกรอบเปราะ มีขายมากในช่วงปลายกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ถ้าเป็นคนที่เคยรับประทานมักจะติดใจในรสชาติของผักหวาน เพราะมีรสหวานสมชื่อ เอามาปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงเลียง บะช่อหมูสับ แกงส้มผักหวาน แต่ทางภาคอีสานมักจะแกงใส่ไข่มดแดง ผักหวานพอสุกแล้วจะนิ่มแต่ไม่เละ คุณแม่เคยบอกว่าผักหวานเมื่อโดนน้ำฝนแล้วเขาจะไม่กินกัน เพราะมีสารบางอย่างเมื่อกินแล้วจะทำให้เมาได้ อาจเป็นเพราะว่ามีผักอีกชนิดหนึ่งที่มีพิษลักษณะคล้ายผักหวาน ใบเป็นรูปรี ผิวใบด้าน เนื้อใบเหนียว ที่ชาวบ้านเรียกว่าผักหวานเมา หรือเสน พอเริ่มเข้าหน้าฝน ผักหวานก็จะหายไปจากท้องตลาดเหมือนกัน นี่แหละที่ให้ชื่อผักหวานว่าเป็นผักหน้าร้อน
              ผู้อ่านอาจจะคิดว่า หากินก็ยาก ราคาก็แพง กินผิดก็เป็นอันตราย ไม่กินเสียดีกว่า แต่ถ้าได้ลองกินท่านก็จะได้หลุดพ้นจากความจำเจของผักประจำเมนูที่ซ้ำซาก
           แต่ที่แน่ๆ ผักหวานป่าเป็นผักที่ปลอดภัยจากสารพิษ  เป็นผักธรรมชาติที่คนเราใฝ่หาชนิดหนึ่งที่เดียวและเป็นผักที่ให้โปรตีน มีวิตามิน และเกลือแร่หลายชนิด เช่น เบต้า-แคโรทีน วิตามินซี และวิตามินบี 2 หรือไรโบฟลาวิน ซึ่งบางคนจะเรียกว่าวิตามินลดความอ้วน เพราะว่าวิตามินบี 2 จะมีส่วนสำคัญในการช่วยเผาผลาญกรดอะมิโนจาก โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน ให้ไปเป็นพลังงานสำหรับร่างกาย สำหรับผู้ที่ขาดวิตามินบี 2 ก็จะทำให้เป็นโรคปากนกกระจอก ซึ่งบางคนทั่วไปมักจะเข้าใจผิดว่า ถูกยางผลไม้กัดปาก หรือถ้าขาดในวัยเด็กก็จะทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงักกลายเป็นเด็กแคระไปได้ ในผักหวานป่า 1 ขีด จะมีวิตามินบี 2 อยู่ประมาณ 1.65 มิลลิกรัม คงจะเห็นว่าผักหวานป่าให้วิตามินนี้มากทีเดียว และที่สำคัญวิตามินลดความอ้วนตัวนี้ยังทนความร้อนในการหุงต้มเสียด้วย ถึงแม้จะแกงส้มต้มแกง วิตามินตัวนี้ก็ยังคงอยู่แต่อาจจะน้อยกว่าผักหวานสดเล็กน้อย
        นอกจากใบผักหวานป่า ที่เป็นอาหารที่มีคุณค่าแล้ว  รากผักหวานป่าก็ยังใช้เป็นยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณ ช่วย ถอนพิษ แก้พิษร้อน กระสับกระส่าย แก้น้ำดีพิการได้
                ชาวบ้านที่เก็บผักหวานเป็นผู้ที่รู้จักต้นผักหวานป่านี้เป็นอย่างดี เพราะปีหนึ่งผักหวานป่าเป็นที่มาของรายได้มากพอสมควร ไม่ใช่เพราะการประโคมการกินผักหวานตามๆ กันไป แต่เป็นเพราะรสชาติที่ดีของผักนี้ที่ทำให้ผู้ที่เคยได้ลิ้มรสแล้วเป็นต้องถวิลหาเมื่อหน้าร้อนมาเยือน
         ถ้ามีการปลูกป่ากันก็น่าจะให้ผักหวานได้มีโอกาส คืนสู่ป่าอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้เป็นผักประดับป่า เอาไว้ให้คนรุ่นหลังรู้จักมากขึ้น และสร้างให้ป่าเป็นแหล่งอาหารของคนเราตลอดไป

ชื่อผัก                      ผักหวานป่า, ผักหวาน
ชื่อวิทยาศาสตร์            Melientha suavis  Pierre.
วงศ์                         Opiliaceae


ตารางแสดงคุณค่าอาหารส่วนที่กินได้ 100 กรัม
พลังงาน
โปรตีน
ไขมัน
คาร์โบไฮเดรต
แคลอรี
กรัม
39
0.1
0.6
8.3

ตารางแสดงคุณค่าอาหารส่วนที่กินได้ 100 กรัม
แคลเซียม
ฟอสฟอรัส
เหล็ก
วิตามินบี1
วิตามินบี2
ไนอาซีน
วิตามินซี
มิลลิกรัม
24
68
1.3
0.12
1.65
3.6
168

ตารางแสดงคุณค่าอาหารส่วนที่กินได้ 100 กรัม
เบต้า-แคโรทีน
ใยอาหาร
RE
กรัม
516.33*
กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย 2535
*วิเคราะห์โดยสาถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
RE ไมโครกรัมเทียบหน่วยเรตินัล


-ไม่มีการวิเคราะห์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น