ผักกูด เฟิร์นกินได้

ผักกูด  Edible ferns

           หลายพันปีมาแล้ว  ที่มนุษย์เราเข้าไปเจ้ากี้เจ้าการคัดเลือกพันธุ์พืชจากธรรมชาติที่ต้องตา ต้องใจ มาขยายพันธุ์
                  มาถึงวันนี้ องค์ความรู้ในการเสริมแต่งหน้าตาและปริมาณพืชผักผลไม้ให้เป็นไปดั่งใจต้องการ ก็ยิ่งเข้มแข็งแกร่งกล้า พืชที่เคยมีเมล็ด น่ารำคาญยามส่งเข้าปาก ก็ดัดแปลงเสียให้ไม่มี ที่เคยเนื้อน้อยก็ทำให้เนื้อมาก ที่เปลือกหนาก็ทำให้บาง ที่หนามคมก็ทำให้ทื่อ หรือจะเปลื่ยนจากลูกกลมๆ มาเป็นสี่เหลี่ยมก็ทำได้มาแล้ว
      โตช้า...ขยายพันธุ์ยากนักรึ เดี๋ยวนี้สะดวกมากอาศัยแค่ชิ้นส่วนนิดเดียวก็เอามาเข้ากรรมวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แตกลูกหลานออกมาเป็นต้นขนาดจิ๋วได้มากมายเติบโตรวดเร็วทันใจ
          แต่สำหรับ “ผักกูด” ไอ้ที่จะมาเสกสรรค์ปั้นแต่งให้แตกลูกหลานเติบโตได้เป็นไปดั่งใจแบบฝืนธรรมชาติกันนั้น...เมินเสียเถิด
           คนกรุงที่เคยลุยป่า หรือสัมผัสชนบทห่างไกล อาจแอบเก็บผักกูดไว้ในซอกเล็กๆ หลืบลึกๆ ของดวงใจ ทั้งด้วยรูปลักษณ์อันปราศจากลำต้น มีแต่ก้านและใบพุ่งจากดินเป็นพุ่ม ยอดหงิกม้วน สีเขียวใสผิวตึงเต่ง และด้วยคำบอกเล่าที่ว่า กูดนั้นคือ “เฟิร์นที่กินได้”
              ยิ่งถ้าโอกาสอำนวยได้ชิมผักกูด ซึ่งขึ้นหลากละลานตาอยู่ตามชายป่าเหล่านั้น ไม่ว่าจะด้วยการนำยอดมาจิ้มน้ำพริก หรือโยนตามกระเทียมบุบลงในกระทะร้อนฉ่าฉ่ำน้ำมันก็ดี ยิ่งหนีไม่พ้น ลืมความกรอบ หยุ่น อมรสหวานล่ำลึกไม่ลง
                ในการจัดหมวดหมู่พันธุ์พืช ถือว่าเป็นเฟิร์นชนิดหนึ่ง ซึ่งพบได้ทั่วไปในบ้านเรา ชนิดที่นำมากินกันเรียกว่าผักกูดน้ำ ซึ่งชาวป่าชาวดอยนิยมนำมาบริโภค เพราะหาเก็บได้ง่ายตามชายป่า ตามแผงผักในตลาดต่างจังหวัดก็มีวางขายทั่วไปเหมือนกัน
             แต่เห็นหาเก็บกันง่ายๆอย่างนี้   อย่าเข้าใจว่ากูดเป็นผักสะเทิ้นบกสะเทิ้นน้ำ ไม่เลือกแหล่งกำเนิด เพราะที่จริงแล้ว เขาพิธีพิถันเรื่องนี้เกินหน้าใครๆ เลยเชียว
          ผักกูดมีลักษณะเด่นอย่างไม่น่าเชื่อ  ตรงที่มีความไวเป็นพิเศษต่อสารเคมี  และสภาพแวดล้อมที่เปลื่ยนแปลงไปโดยรอบ เราสามารถใช้พืชชนิดนี้เป็นกระจกท้อนความผันแปรของคุณภาพดินและระบบนิเวศ เรียกได้ว่า มีผักกูดขึ้นที่ไหน ที่นั้นมีดินดี และไม่มีสารเคมีปนเปื้อนอยู่ในบริเวณโดยรอบ
             ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ของมนุษย์ที่ถูกนำมาใช้อย่างเกินเลย จึงเป็นภัยแก่ผักกูดโดยตรง
             โอกาสรอดที่หลงเหลือลดน้อยลงนี้   เกี่ยวข้องโดยตรงกับโอกาส    ของชาวบ้านตามชนบทในการแสวงหาแหล่งอาหารที่มีคุณค่าสูง โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินทองซื้อหา หรือในราคาประหยัด
               แต่ไหนแต่ไร   ผักกูดเคยเป็นแหล่งอุดมด้วยธาตุเหล็ก   และเบต้า-แคโรทีนซึ่งหากกินร่วมกับเนื้อสัตว์ ก็จะทำให้เกิดการดูดซึมแร่ธาตุเหล่านี้เข้าไปบำรุงร่างกายให้แข็งแกร่ง ผลโดยตรงคือ ทำให้ไม่อ่อนเพลียหรือหรือซีดง่าย ช่วยบำรุงสายตา และเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ไม่ต้องเจ็บป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บที่มักเป็นๆหายๆ
             คนเมืองเราอาจย่ามใจว่า อย่างไรเสียยังมี “วาราบิ” หรือผักกูดดองจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธุ์หนึ่งของผักกูดที่พบในบ้านเราที่เรียกกูดกิน ไว้เป็นตัวตายตัวแทน อันนี้เข้าใจผิดถนัด เพราะระหว่างผักกูดน้ำของไทยกับวาราบิคุณค่าแตกต่างห่างไกลอย่างหลังทาบอย่างแรกไม่ติด
              ในตลาดตามต่างจังหวัดยังมีผักกูดให้หากินได้ เช่น ทางภาคใต้ กาญจนบุรี ชลบุรี หรือจังหวัดที่ยังมีธรรมชาติสมบูรณ์อยู่ แต่สำหรับคนในกรุงเทพฯ อาจลองเดินหาได้ตามตลาดเทเวศร์ หรือตลาดนัดสวนจตุจักร
               ผักกูดน้ำนั้นมี 2 ชนิด มักขึ้นเป็นกอข้างคันนาหรือคูน้ำที่มีพื้นริมน้ำแฉะๆ ชนิดที่ใบเป็นฝอยละเอียด คนตรังเรียกว่า ขาเขียดน้ำเค็ม จันทบุรีเรียกว่า ผักหนวดปลาดุก อีกชนิดหนึ่ง ใบจับหยาบกว่าชนิดแรกยอดอ่อนสีเขียว บางครั้งเรียกว่า ผักกูดขาว หรือ กูดกิน ยังมีผักกูดอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่าผักกูดแดง มักขึ้นตามที่โล่งแจ้งมีน้ำขังเป็นเป็นครั้งคราว ยอดอ่อนสีแดงคล้ำอมน้ำตาล ภาคใต้ เรียกลำเท็ง ภาคกลางเรียกปรงสวน ผักยอดแดง ผักกูดมอญ ผักกูดทั้ง 3 ชนิดนี้กินได้เหมือนกันหมด ซึ่งมีวิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ ที่ดีต่อร่างกายทั้งสิ้น
             ใครที่โชคดีได้ผักกูดสดสักหนึ่งกำมาถึงมือ ชอเชิญชวนให้ฉลองกันด้วยเมนู “ยำผักกูด” รสแซ่บ สูตรไม่ซับซ้อน ดังต่อไปนี้
                ก่อนอื่นคั้นน้ำกะทิ แยกส่วนหัวกะทิที่เคี่ยวพอเดือดแล้วไว้ต่างหาก นำส่วนหางกะทิมาตั้งไฟ เพื่อใช้ลวก ยอดผักกูดอ่อนๆ นาน  1-2 นาที แล้วจัดเรียงใส่จาน ราดทับด้วยน้ำยำ ซึ่งทำโดยนำกุ้งและหมูสับทีรวนจนสุกดีแล้ว มาปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำมะนาว พริกเผา เคล้าพริกขี้หนูซอยและหอมแดง ชั้นบนสุดนำหัวกะทิที่เคี่ยวรอท่าไว้นั่นแหละมาราดปิดท้าย เท่านี้งานฉลองก็เริ่มได้อย่างสมบูรณ์แบบ
               ถ้าอยากฉลองกันบ่อยๆ คงต้องบอกต่อๆไป ให้ช่วยผักกูดพ้นภาวะล่อแหลม โดยระมัดระวังในการใช้สารเคมี และใคร่ครวญในการกระทำใดๆต่อสภาพแวดล้อมให้มาก
              ที่ไหนมีดินดี อากาศบริสุทธิ์ น้ำสะอาด ที่นั่นมีผักกูด-เฟิร์นกินได้
ชื่อผัก :                 ผักกูด
ชื่อวิทยาศาสตร์ :  ขาเขียดน้ำเค็ม        Ceratopterls  thallctrodes  Brongn.
ผักกูดขาว              Dlplazium  esculentum Sw.
วงศ์ Athyriaceae
วาราบิ(ผักกูดกิน)   Pterldlum  aqulllnum  Kuhn var yarrabense Domin

ตารางแสดงคุณค่าอาหารส่วนที่กินได้ 100 กรัม

พลังงาน
โปรตีน
ไขมัน
คาร์โบไฮเดรต
กิโลแคลอรี
กรัม
ใบ
19
1.7
0.4
2.2

ตารางแสดงคุณค่าอาหารส่วนที่กินได้ 100 กรัม
แคลเซียม
ฟอสฟอรัส
เหล็ก
วิตามินบี1
วิตามินบี2
ไนอาซิน
วิตามินซี
มิลลิกรัม
5.00
35
36.3
0.34
0.08
0.5
15

ตารางแสดงคุณค่าอาหารส่วนที่กินได้ 100 กรัม
เบต้า-แคโรทีน
ใยอาหาร
RE
กรัม
-
-

กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย. 2535
RE ไมโครกรัมเทียบหน่วยเรตินัล
-ไม่มีการวิเคราะห์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น