สะเดา ประโยชน์เกินเดา

สะเดา  Neem  tree
         
ชีวิตเล็กๆ ที่เรามองไม่เห็น ที่ลอยอยู่ในอากาศ ในน้ำ ติดอยู่ตามเก้าอี้ ตามโต๊ะ ที่เบาะ ที่แก้วน้ำ ที่ช้อน ที่ไหนต่อไหนอีกหลายแห่งเป็นเพื่อนร่วมโลกที่มีงานทำกันคนละหลายๆ อย่างบางครั้งงานของเขา ก็ทำเราป่วยได้ แต่บางทีเราก็อยู่ร่วมกับเจ้าของผลงานความเจ็บป่วยได้โดยไม่ป่วย ใครที่ร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ ถ้านั่งอยู่กับคนที่เป็นหวัด ไม่จำเป็นต้องติดหวัด ถึงเชื้อหวัดเข้าสู่ร่างกายแล้วก็ไม่เป็นหวัด เพราะร่างกายมีกองทัพเม็ดเลือดขาวที่เป็นตำรวจสายตรวจจิ๋ว ทำงานให้เราอยู่แล้ว
สะเดา มีสารอาหารที่เป็นผู้ช่วยของระบบคุ้มกันร่างกายที่ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงรักษาความป่วยเจ็บ แต่ก้าวหน้ากว่านั้นด้วยการป้องกันร่างกาย ก่อนป่วย หน้าเบ้ กินเข้าไปยังไง สะเดาขมชนิดวางรูปหน้าไม่ถูก บางคนยังนึกไปไกลว่าขืนกินสะเดาแล้วมีนักข่าวมาเห็นเข้า เป็นได้ออกรายการสะเก็ดข่าวแน่ๆ พิธีกรอาจจะ ประกาศกินสะเดาแล้ว ใบหน้าเกินบรรยาย เกินยังไงดูกัน
เรากินใบอ่อนและช่อดอกของสะเดา สะเดาธรรมดานั้น ลวกแล้วคลายความขม ขมมากก็ลวกหลายครั้ง ถ้าเป็นสะเดาจืด สะเดามัน สะเดาหวานอาจลวกครั้งเดียว กินกับน้ำปลาหวาน ปลาดุกย่าง ที่กินกับน้ำปลาหวานก็เพื่อคลายความขมนั้นเอง เป็นการออกแบบชุดอาหารให้ได้รสชาติและคุ้มค่า ผู้ที่ออกแบบนั้นเป็นวิศวกรโภชนาการที่มีฝีมือจริงๆ
ว่ากันว่าคนที่มีอายุมาก ชอบของขม แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ คนแก่ไม่แก่ วัดตรงไหน ว่ากันมาเหมือนกันว่าคนจะสวย สวยจรรยาใช่ตาหวาน คนจะแก่ แก่ปัญญาใช่อยู่นาน
เพราะฉะนั้น ใครที่รู้เรื่องของสะเดาว่าดีขนาดไหนก็คงจะหันมาร่วมวงสะเดาน้ำปลาหวาน ปลาดุก ย่างกัน ได้เป็นการฉลาดยิ่ง อร่อยเยี่ยม และช่วยให้ร่างกายแข็งแรง อยู่ร่วมกับชีวิตที่เรารักได้โดยไม่ป่วยไม่ไข้
สะเดา ซึ่งมีชื่อภาอังกฤษว่า Neem นั้น สำคัญจนเกิดองค์กรที่ชื่อ Neem Assoclation มี Home Page อยู่บนทางด่วนข้อมูล ฐานปัญญาสากลทีเดียว ที่นี่เป็นฐานรวบรวมความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับสะเดาไว้หลาย แง่หลายมุม
สะเดายังไม่ได้รับการศึกษาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ในโลกวิทยาการของทางตะวันตก แต่น่าตื่นเต้นไม่ได้มาจากวิทยาศาสตร์อย่างเดียวเท่านั้น ลองหลับตานึกถึงบรรยากาศโบราณ ในครอบครัวชาวอินเดีย เมื่อเด็กเกิดใหม่ชาวอินเดียจะทาผิวเด็กด้วยสมุนไพรและน้ำมัน วางเด็กลงบนผืนผ้าไหมเนื้อละเอียด แล้วโบกพัดด้วยกิ่งสะเดาที่มีใบพราว เด็กอินเดียที่ไม่สบายก็จะให้กินน้ำมันสะเดานิดหนึ่ง แต่ถ้าเป็นเป็นแผลจะอาบน้ำ ต้มใบสะเดาเพื่อรักษา
สะเดาสะสมสิ่งดีๆ ไว้มาก สมกับที่เป็นต้นไม้ใหญ่คนอินเดียผูกพันกับสะเดาที่สุด ตื่นเข้าใช้กิ่งสะเดาทุบแปรงฟัน ใช้สบู่ที่ทำจากลูกสะเดา แม้แบ่งวรรณะ แต่ยาสีฟันและยา ซึ่งผู้มีอันจะกินในอินเดียใช้ก็ทำมาจากสะเดาพืชดีเดียวกันนั่นเอง
สภาวิจัยแห่งชาติของอเมริกาทำหนังสือหนา 152 หน้า ชื่อ Neem:A Tree for Solving Global Problems ณ วันนี้สะเดาเป็นต้นไม้ที่แก้ปัญหาโลก ต้นไม้สูงใหญ่ที่ออกยอด มีใบอ่อนให้กินตลอดปีนี้ เป็นสารอาหารของเรามานานแล้ว เป็นที่พึ่งของเกษตรกรไทย เป็นต้นไม้ที่แมลงไม่ชอบ จึงใช้ทำยาปราบแมลงศัตรูพืช โดยไม่มีพิษ
สะเดาเป็นอะไรต่อได้อีกมากมาย แทบไม่น่าเชื่อ
ช่อดอกสะเดาที่เรากินได้นั้นออกในหน้าแล้ง ทางภาคอีสานตอนบน สะเดาออกช่อต้นเดือนพฤศจิกายนตอนล่างแถวๆ สุรินทร์ บุรีรัมย์ออกดอกต้นเดือนธันวาคมดอกสะเดาที่เกษตรกรเก็บมาขายมักจัดเป็นช่อ เก็บใบแก่ออก เหลือใบอ่อนไว้ให้สวย กินก็ได้ ดูก็สวยดี
ใบสะเดาเป็นอาหารที่เหมาะกับผู้สูงอายุอาจจะเพราะเหตุผลทางยา Neem Association แจ้งว่า ใบสะเดาที่กินนั้นช่วยลดความต้องการอินซูลิน มีรายงานว่า poly-saccharides และ limonoids ที่พบในเปลือก ใบ และ ผลสะเดา ลดความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอก และมะเร็งได้โดยไม่ก่อผลข้างเคียง สะเดายังช่วยรักษาการเต้นของหัวใจให้ลงจังหวะ
สะเดาในฐานะที่เป็นยานั้นเป็นด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งสะเดาอยู่คู่กับพืชผลต่างๆ เดิมเมื่อเก็บเกี่ยวถั่วข้าวแล้ว เกษตรกรนำใบสะเดา ผสมในผลผลิตเพื่อป้องกันแมลงเข้ามากินเมล็ดพืช
ใน 3 ปี สะเดาโตจากเมล็ดเป็นต้นไม้สูง 20 ฟุต และอาจอยู่ได้นานถึง 200 ปี อยู่เป็นผู้คุ้มครองชีวิตอื่นๆ สะเดาเป็นต้นไม้ที่เหมาะจะปลูกเป็นป่ากลางเมือง เพราะทนความร้อน และมลภาวะทางน้ำ อากาศได้ดี
สะเดาช่วยรักษาโรคต่างๆ ได้หลายโรคที่น่าสนใจคือ อาการเครียดนั้นจะลดลงเมื่อเจ้าของอาการได้รับสารสกัดจากใบสะเดา มีการทดลองโดยเปรียบเทียบความเครียดของหนูกลุ่มที่ 1 ที่ได้รับน้ำใบสะเดาคั้น กลุ่มที่ 2 ได้น้ำเกลือ และกลุ่มที่ 3 ได้ diazepam (Vallum) ซึ่งเป็นยาลดความกังวลที่ใช้กันมากในปัจจุบัน ผลที่ได้คือ สะเดาส่งผลได้เท่ากับหรือดีกว่า diazepam คุณค่าของสะเดาที่เป็นเรื่องทางเภสัชกรรม ยังมีหนทางก้าวหน้าไปกว่านี้อีกมาก
สะเดาในมื้ออาหารของเรามีของดีอยู่ในยอด ในใบอ่อน ยอดสะเดามีเบต้า-แคโรทีนมาก ชนะยอดตำลึง ผักซึ่งมีเบต้า-แคโรทีน ตัวตั้งต้นของวิตามินเอมากอยู่แล้วใบตำลึง 1 ขีด ให้เบต้า-แคโรทีน 699.88 ไมโครกรัมเทียบหน่วยเรตินัล ( 1 วันผู้ใหญ่ต้องการวิตามินเอ 800 ไมโครกรัมเทียบหน่วยเรตินัล ) ยอดสะเดา 1 ขีด ให้เบต้า-แคโรทีน ถึง 777.90 ไมโครกรัมเทียบหน่วยเรตินัล สะเดากินยากกว่าตำลึงเพราะรสชาติขมเป็นอุปสรรค แต่การกินผักเพื่อความพรั่งพร้อมของร่างกาย ควรกินผักหลากหลายชนิดอยู่แล้ว จึงควรกินสะเดากับน้ำปลาหวาน และปลาดุกย่างเท่าที่เห็นว่ากำลัง พอดีลิ้น แล้วกินผักอื่นๆ เสริม การลวกสะเดาเพื่อไม่ให้ขมทำให้วิตามินของสะเดาเสียไปแต่ไม่น่าเสียดายเท่าไรนัก เพราะวิตามินซีไม่ทนแสง ไม่ทน อากาศ ยอดสะเดากว่าจะเดินทางมาถึงเรา ก็เสียวิตามินซีไปมากแล้ว ไม่เหมือนเบต้า-แคโรทีน ซึ่งทนทานกว่า ก็หาวิตามินซีจากผลไม้ก็แล้วกัน ปอกทันที กินทันที ได้วิตามินซี ก่อนจะหายไป
ในขณะที่ปลาทูคู่กับผักสดหลายๆอย่าง ปลาดุกย่างก็มีคู่ คือ ยอดสะเดาเขียวๆ ที่ให้สุขภาพดีตอบแทนที่เราอุตส่าห์อุดหนุนเกษตรกรที่ปลูกสะเดา อาหารชุดอย่างสะเดาน้ำปลาหวาน ปลาดุกย่าง เป็นความรู้สึกอีกอย่างที่ Neem Association ยังไม่ได้รวบรวมไปใส่ไว้ในฐานข้อมูล เรารู้ก่อน และรู้ก่อนทำก่อน ได้ประโยชน์ก่อนเพิ่มสะเดาในรายการอาหารบ้าง เพื่อโรคร้ายจะได้ไกล และสุขภาพเราดีขึ้น
ชื่อผัก:สะเดา                                                                                                                     ชื่อวิทยาศาสตร์: Azadlirachta indica  A. Juss.                                                                        วงศ์:Meliaceae 

ตารางแสดงคุณค่าอาหารส่วนที่กินได้  100 กรัม
พลังงาน
โปรตีน
ไขมัน
คาร์โบไฮเดรต
กิโลแคลอรี
กรัม
80
6.1
0.8
12.1

ตารางแสดงคุณค่าอาหารส่วนที่กินได้  100 กรัม
แคลเซียม
ฟอสฟอรัส
เหล็ก
วิตามินบี 1
วิตามินบี 2
ไนอาซิน
วิตามินซี
มิลลิกรัม
72
118
1.2
0.07
0.07
0
9.00**

ตารางแสดงคุณค่าอาหารส่วนที่กินได้  100 กรัม
เบต้า-แคโรทีน
ใยอาหาร
RE
กรัม
777.90*
11.60*
กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย. 2535.

* วิเคราะห์โดยสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยามหิดล** กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.

ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม. 2530

RE ไมโครกรัมเทียบหน่วยเรตินัล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น