ผักแต้ว ผักติดดิน กินติดใจ ได้ประโยชน์

ผักแต้ว  Taew

          ในปัจจุบัน คนเริ่มหันมานิยมบริโภคผักพื้นบ้านกันมากขึ้นเพราะไม่มีสารพิษ คนในชนบทโชคดีกว่าคนในเมืองมาก เพราะผักหญ้า กุ้ง หอย ปู ปลา จับได้ตามหนองคลองบึงต่างๆ แม้จะไม่มีอะไรกินก็ตำน้ำพริกนึ่งข้าวเหนียวใส่กระติบสะพายไปท้องนา หาเด็ดผักแถวๆนั้นแกล้ม ถ้าโชคดีมีกบ เขียด ก็เพิ่มโปรตีนได้อีกมื้อหนึ่ง  คนในเมืองโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ค่าครองชีพสูงมาก ข้าวปลาอาหารจะหาตามหนองคลองบึง...อย่าหวัง เดี๋ยวนี้อะไรอะไรก็แพงไปหมด เงิน 20 บาทกินได้มื้อเดียวยังไม่อิ่ม  แต่ถ้าที่บ้านมีพื้นที่เหลือเท่าแมวดิ้นตายก็อยากจะแนะนำให้ปลูกผัก อาจเป็นผักสวนครัวจำพวกพริก ต้นหอม ผักชีหรือผักบุ้ง ถ้าเป็นไปได้เป็นผักพื้นบ้านด้วยแล้วยิ่งดีเข้าไปใหญ่ เพราะในเมืองหาซื้อกินยาก  เป็นผักแปลกไม่มีบ้านไหนปลูก อย่างเช่น ผักแต้ว
           ผักแต้วเห็นจะเป็นผักที่มีชื่อเรียกมาก  และเรียกแตกต่างกันตามภาคต่างๆ ของประเทศไทยด้วยเช่นนครราชสีมาเรียกผักติ้ว เลยเรียกผักเตา สตูลเรียกดาว  กาญจนบุรีเรียกกวยโซง เป็นต้น
               ผักแต้วส่วนมากจะนำมากินเป็นผักสดโดยจะกินยอดแต้วอ่อน จิ้มกับน้ำพริก แจ่ว ลาบ ก้อย หมี่กะทิรสชาติของผักแต้วจะออกเปรี้ยวนิดๆ เช่นเดียวกับดอกผักแต้วมีรสเปรี้ยวสามารถนำมากินได้เช่นกัน นอกจากกินดิบแล้วผักแต้วสมารถนำส่วนดอกไปต้ม แกง เช่น แกง เลียงผักแต้วซึ่งเป็นอาหารทางภาคเหนือ จะใช้เครื่องปรุงน้ำแกงต่างจากแกงเลียงภาคกลาง คือจะใช่พริกแห้ง7-8 เม็ด หอมแดง 3-4 หัว กะปิ 1 ช้อนกาแฟ หมูติดมัน และใบผักแต้วเยอะๆ วิธีทำ โขลกเครื่องน้ำพริกให้ละเอียดหั่นหมูต้มให้สุก พอน้ำเดือดใส่พริกแกง ใส่ใบผักแต้วขณะน้ำกำลังเดือดคนให้ทั่ว ปรุงรสยกลง กินกับข้าวสวยร้อนๆ ผักแต้วนั้นมีขายตามท้องถิ่นตามต่างจังหวัดในภาคต่างๆ จะมีมากในช่วงฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว
               การที่ผักแต้วจัดเป็นผักแต้วเป็นผักที่ขึ้นในป่าเบญจพรรณในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนบน ในหน้าร้อน ดอกแต้วจะมีสีชมพูอ่อนบานเต็มต้นส่งกลิ่นในบ้านที่มีบริเวณ จะปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงา และไม้ประดับได้ เนื้อไม้ของต้นแต้วยังสามารถใช่ทำเสา ด้ามเครื่องมือของจอบ เสียม หรือจะใช่ทำเชื้อฟืนอย่างดี และเปลือกไม้ของต้นแต้วยังเป็นสีย้อมผ้ามัดหมี่ตามธรรมชาติซึ่งจะให้สีน้ำตาลได้อีกด้วย
                  อย่างที่บอกไว้ ถ้ามีพื้นที่บริเวณบ้านเหลือเท่าแมวดิ้นตาย  เชียร์ใจขาดดิ้นให้ปลูกผักแต้วในบ้านไว้สักต้นเวลาแดดร่มลมตกนั่งกินลาบ ซุบหน่อไม้ น้ำตก ใต้ต้น ผักแต้ว กินไปเด็ดผักแต้วแกล้มไป....เก๋ซะไม่มี
                   ใช่ว่าผักแต้วจะปลอดสารพิษเท่านั้น ผักแต้วยังมีคุณค่าสารอาหารต่างๆตามอย่างที่ผักควรจะมี คือจำพวกวิตามินและเกลือแร่ ตัวที่มีมากที่สถาบันวิจัยโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล วิเคราะห์คือเบต้า-แคโรทีน ซึ่งเจ้าสาร
ตัวนี้จำเป็นต่อทุกเพศทุกวัยอย่างมาก คือสารนี้สามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้ในร่างกาย โดยเฉเพาะเด็กๆ จำเป็นที่จะต้องได้วิตามินเออย่างเพียงพอ เพื่อใช่ในการเจริญเติบโต สร้างภูมิต้านทานโรคต่างๆและที่สำคัญคือป้องกันไม่ให้เด็กๆ เป็นโรคตาไก่หรือโรคตาบอดกลางคืน
                   ไม่ใช่เพียงแต่ผักแต้วเท่านั้นที่มีเบต้า-แคโรทีนสูง ผักพื้นบ้านของไทยหลายๆ ตัวก็มีเบต้า-แคโรทีนสูงเช่นกัน เช่น  ตำลึงข้างรั้ว ฟักทองใต้ถุนบ้าน ผักเสี้ยนดองในครัว ของแม่ ยอดกระถินของเจ้าทุย เป็นต้น
                    ผักพื้นบ้านไทยๆ หลายชนิด มีสารที่สามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้ เป็นผักราคาถูก หาง่าย กินผักพื้นบ้านไทย ผักติดดิน กินติดใจ ได้ประโยชน์

ชื่อผัก:   ผักแต้ว/ผักติ้ว
ชื่อวิทยาศาสตร์:Cratoxylum  formosum (Jack.) Dyer ssp. Prunlflorum (Kurz.)Gogelin
วงศ์:clusiaceae
                            
ตารางแสดงคุณค่าอาหารส่วนที่กินได้ 100 กรัม
พลังงาน
โปรตีน
ไขมัน
คาร์โบไฮเดรต
กิโลแคลอรี
กรัม
58
2.4
1.7
8.2

ตารางแสดงคุณค่าอาหารส่วนที่กินได้ 100 กรัม
แคลเซียม
ฟอสฟอรัส
เหล็ก
วิตามินบี1
วิตามินบี2
ไนอาซีน
วิตามินซี
มิลลิกรัม
67
19
2.5
0.04
0.67
3.1
56

ตารางแสดงคุณค่าอาหารส่วนที่กินได้ 100 กรัม
เบต้า-แคโรทีน
ใยอาหาร
RE
กรัม
339.03*
-

กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ตารางคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย,2535
 *วิเคราะห์โดยสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
RE ไมโครกรัมหน่วยเรตินัล
-ไม่มีการวิเคราะห์                  
                            
                            

                                                         
                                                         
                                                         
                                                         


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น