ขจร หอมขจรจรุงใจ

ขจร  Cowslip creeper,flower

                บนบาทวิถีริมถนนบางสาย  มีบางครั้งที่เราจะได้เห็นบางสิ่งที่ผิดแผกลิบลับจากสรรพสิ่งบนรายทาง                                                    ท่ามกลางละอองฝุ่น  รองเท้าหลากสีหลายทรงสารพัดกลิ่น  และเศษขยะน้อยใหญ่  บางที่มีกระทงใบตองเล็กๆ  เรียงเป็นกลุ่มในถาดวางสงบเสงี่ยมเจียมตัวอยู่ริมทาง  ในกระทงมีดอกไม้เล็กๆกลิ่นหอมชื่นใจ  สีเขียวออกนวลบรรจุอยู่พอดีกระทง
นี่ละ….ดอกขจร
               อาจเป็นด้วยความสงบบรรจง  และขนาดดอกเล็กกระจ้อยร่อย  ทำให้มีแม่ค้าแม่ขายเมตตาเจียนใบตองมาเย็บกระทงขนาดเล็กกว่าฝ่ามือไว้ให้เป็นที่อยู่แก่ดอกขจรเสมอ  หรือไม่อีกที  เมื่อดอกขจรอยู่เป็นที่เป็นทางแบบนี้ชะรอยจะดูเชิญชวนให้ซื้อหา  และไม่ชอกช้ำง่าย  ที่แน่ๆแม่ค้าทั้งย่านท่าช้าง  ท่าพระจันทร์  หรือแม้แต่แม่ค้าตลาด  อ.ต.ก.ต่างก็ยึดธรรมเนียมหากระทงใบตองสดมาใส่ดอกขจรกันทั่ว
                    ครั้งยังอยู่บนต้น  ดอกขจรเป็นดอกไม้เล็กๆ  ที่น่าทะนุถนอม  ยามบานเต็มที่กลีบแข็งๆ  ฉาบใยนวลตอง  ทั้ง 5 แผ่ออกกว้าง  และมีสีเหลืองแผ่ซ่าน  จัดจ้านขึ้นลำดับ  พร้อมส่งกลิ่นหอมเย็นคล้ายใบเตยหรือชมนาดในยามสนธยา
          ขจรไม้เลื้อย  ใบรูปร่างคล้ายหัวใจสีเขียวอมแดง  ยอดจะเลื้อยเกาะพันตามหลักหรือร้าน  จนเป็นซุ้มร่มรื่น
                        ดอกขจรสวยจนคนภาคเหนือ  ซึ่งเรียกว่าพรรณไม้นี้ว่า ผักสลิด  นิยมเด็ดดอกขจรที่ระย้าเป็นพวงคล้ายอุบะไปใช้ถวายพระ  และร้อยเป็นพวงมาลัยสวมศีรษะ
                       ทั้งที่ขจรเป็นพรรณไม้ของทวีปเอเชียที่พบได้ทั้งในป่า  และตามบ้านเรือนทั่วไปในอินเดีย  จีน  ไทย  และประเทศแถบเส้นศูนย์สูตร  แต่ด้วยเสน่ห์ความสวยหอมทำให้ต้นขจรขจรไกลไปถึงทวีปยุโรป  ในฐานะไม้เถาประดับซุ้มตามบ้าน
                       ลูกขจรรูปร่างละม้ายคล้ายฝักนุ่นทั้งภายนอกและภายใน  แต่มีขนาดเล็ก  และปลายฝักแหลมกว่ามาก  ยามแก่จัดจะแตกให้เมล็ดดีดตัวออกไปพร้อมปุยสีขาว  ลอยละลิ่วไปแสวงหาที่เติบโตเป็นต้นใหม่ได้ไกลๆ  ซึ่งเป็นได้ทั้งป่าดิบแล้งป่าละเมาะ  หรือบริเวณบ้านเรือน
                        ขจรเป็นพืชที่คนไทยคุ้นเคยมานาน  คนโบราณนำรากขจรมาใช้ทำยาแก้โรคภัยไข้เจ็บได้หลายขนาน เช่นยาหยอดรักษาโรคตา  แก้พิษเบื่อเมา  กระตุ้นให้รู้รสอาหารดีขึ้น  และใช้เป็นสารทำให้อาเจียน
                         ยอดอ่อน  ดอกและลูกขจรอ่อนๆ  ยังนำมาดัดแปลงทำอาหารได้มากมาย  ที่ง่ายที่สุดคือ  ลวกให้สุก  หรือต้มกะทิกับน้ำพริก  ขยับขึ้นไปก็คือ  ดอกขจรผัดขจรผัดน้ำมันไข่เจียวดอกขจร  ทำแกงจืดใส่เต้าหู้  ใส่แกง ฯลฯ  ดอกขจรสุกง่าย  เมื่อนำไปผัดหรือใส่แกงจืดแกงเผ็ดจึงเหมาะจะเป็นเครื่องปรุงที่ใส่เป็นลำดับสุดท้าย  เพราะได้ทั้งขนาดความสุกกำลังดี  และสารอาหารใกล้เคียงที่มีอยู่เดิม
                          คนที่อยากลดน้ำหนัก  อย่าอร่อยกับดอกขจรมากเกินพอดี  เพราะดอกขจรเป็นผักที่ให้พลังงานสูงยิ่ง  กินดอกขจรต้มกะทิมันๆ  ยิ่งหายห่วง
                         อย่าเข้าใจผิดละว่า  กินดอกขจรแล้วต้องอ้วน  นี่แค่สะกิดเตือนไว้ก่อนเท่านั้นเอง  เพราะอย่างไรเสียก็ยังเชียร์ให้กินกันบ่อยๆ  เพราะเป็นผักดีมีประโยชน์  ถึงแม้ให้พลังงานสูง  แต่ก็เป็นพลังงานที่ได้มาจากโปรตีนของพืชโปรตีนทั้งพืชผัก  และจากสัตว์  เป็นสิ่งที่เราต้องการควบคู่กัน  นอกจากจากนี้ดอกขจรยังมีวิตามินสำคัญ  ทั้ง เอ บี ซี  และธาตุครบถ้วนพกไว้ทุกดอก
                  ได้กลิ่นดอกขจรรวยรินมาในยามเย็นเมื่อไหร่  สูดเข้าไปให้เต็มปอด  เพราะนี่คือกลิ่นแห่งคุณค่าที่เปี่ยมพลังทั้งความเป็นดอกไม้สวยและผักอร่อย
                  อย่าเผลอสูดๆ  ไปแล้วน้ำลายไหล  ให้ใครเห็นเข้าก็แล้วกัน
ชื่อผัก: ขจร
ชื่อวิทยาศาสตร์: Telosma  minor Craib.
วงศ์: Asclepiadaceae
ตารางแสดงคุณค่าอาหารส่วนที่กินได้ 100 กรัม
พลังงาน
โปรตีน
ไขมัน
คาร์โบไฮเดรต
กิโลแคลอรี
กรัม
72
5
1.1
10.5







ตารางแสดงคุณค่าอาหารส่วนที่กินได้ 100 กรัม
แคลเซียม
ฟอสฟอรัส
เหล็ก
วิตามินบี 1
วิตามินบี2
ไนอาซิน
วิตามินซิ
มิลลิกรัม
70
90
1
0.1
0.1
1.5
45







ตารางแสดงคุณค่าอาหารส่วนที่กินได้ 100 กรัม
เบต้า-แคโรทีน
ใยอาหาร
RE
กรัม
_
_

กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย .2535
 RE ไมโครกรัมเทียบหน่วยเรตินัล
 –ไม่มีการวิเคราะห์






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น